ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ฯ

1. วิสัยทัศน์

        งานนิติการเป็นหน่วยงานกลางที่พร้อมสนับสนุนงานด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยตามหลักธรรมาภิบาลและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คงไว้ถึงการรักษาซึ่งผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยตามหลักมาตรฐานกฎหมายประเทศและสากล 

คำอธิบายวิสัยทัศน์

หน่วยงานกลางที่พร้อมสนับสนุนงานด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัย หมายความว่า งานนิติการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ เป็นหน่วยงานกลางที่พร้อมให้การสนับสนุนงานด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัย ตามภารกิจการบริหารงานด้านกฎหมายของสำนักงานอธิการบดี และมหาวิทยาลัย รวมทั้งการให้บริการเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ภารกิจงานด้านกฎหมายต่อคณะ/สำนัก/สถาบัน/กอง/หน่วยงานต่างๆ เช่น กระบวนการยุติธรรมทางด้านกฎหมายปกครอง กระบวนการยุติธรรมทางด้านกฎหมายแพ่งและละเมิด กระบวนการยุติธรรมทางด้านกฎหมายอาญา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้บริการรวดเร็ว ถูกต้อง รอบคอบ และเที่ยงธรรม                                                                                                                                                                                                                                                                                               

หลักธรรมาภิบาล หมายความว่า หลักการทางกฎหมายสากลที่ดีต่อการเป็นทิศทางให้หน่วยงานนำมาประยุกต์ใช้ปฏิบัติตามกฎหมายสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๕ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ตามภารกิจหลักประการหนึ่งของสำนักงาน ก.พ.ร. คือ การส่งเสริมให้ระบบราชการไทยนำ หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน โดยกำหนดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ประกอบ ด้วย ๑๐ หลัก ได้แก่ หลักการตอบสนอง (Responsiveness) หลักประสิทธิผล (Effectiveness) หลักประสิทธิภาพ/คุ้มค่า (Efficiency/ Value for money) หลักความเสมอภาค (Equity) หลักมุ่งเน้นฉันทามติ (Consensus Oriented) หลักการตรวจสอบได้/มีภาระรับผิดชอบ (Accountability) หลักเปิดเผย/โปร่งใส (Transparency) หลักการกระจายอานาจ (Decentralization) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) และ หลักนิติธรรม (Rule of Law) 

การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หมายความว่า หลักการทางกฎหมายสากลต่อการบริหารกิจการต่างๆ ในหน่วยงานที่ดี ต่อการเป็นทิศทางให้หน่วยงานนำมาประยุกต์ใช้ปฏิบัติตามกฎหมายสอดคล้องตามเจตนารมณ์แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ประกอบด้วย  หมวด 1 การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หมวด ๒ การบริหารราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน หมวด ๓ การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ หมวด 4 การบริหารราชการอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ หมวด ๕ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน หมวด ๖ การปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการ หมวด ๗ การอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชน หมวด ๘ การประเมินผลการปฏิบัติราชการ  เป็นต้น อันเป็นที่มาจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 

หลักกฎหมายประเทศ  หมายความว่า หลักกฎหมายไทยให้ถือว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ สอดคล้องกับปัจจุบันที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย หลักการปกครองของประเทศไทยได้ดำรงเจตนารมณ์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่แสดงถึงเจตนารมณ์ในการปกครองประเทศตามสถานการณ์ปัจจุบันควรสอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามหลักกฎหมายสากล ทำให้มีการตรากฎหมายในศักดิ์กฎหมายต่าง ๆ มาใช้ในการปฏิบัติ เช่น 1. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศโดยกฎหมายใดขัดแย้งไม่ได้  2. พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้น 3. พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญใช้ในกรณีจำเป็นรีบด่วนหรือเรื่องที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยของประเทศ แต่ต้องเสนอต่อรัฐสภาโดยเร็ว 4. พระราชกฤษฎีกา  เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดรายละเอียดตามพระราชบัญญัติที่กำหนดไว้ 5. กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่รัฐมนตรีตราขึ้นผ่านคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด 6. ข้อบังคับหรือข้อบัญญัติ เป็นกฎหมายขององค์กรปกครองท้องถิ่น 7. ประกาศคำสั่ง เป็นกฎหมายเฉพาะกิจ เช่น พระบรมราชโองการ ประกาศคณะปฏิวัติ คำสั่งหน่วยงานราชการ เป็นต้น

หลักกฎหมายสากล  หมายความว่า หลักการที่กฎหมายกำหนดร่วมกันตามพันธกรณีระหว่างประเทศในเครือข่ายสมาชิกที่นานาประเทศให้การยอมรับนับถือ (recognized) ในฐานะกฎเกณฑ์มาตรฐานที่ทุกรัฐจจำเป็นต้องอนุวัติกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อประโยชน์สูงสุดในการอยูร่วมกันในประชาคมโลกอย่างสันติสุขไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด แนวคิดความเป็นกฎหมายสากลนั้นโดยที่รัฐทุกรัฐในโลกล้วนมีส่วนร่วมในกระบวนการของกฎหมายระหว่างประเทศผ่านกระบวนการ วิธีการต่าง ๆ เช่น การพัฒนาจารีตประเพณีระหว่างประเทศ การทำสนธิสัญญา การลงนามความร่วมปฏิญญาสากล และการเข้าร่วมดําเนินงานในองค์การระหว่างประเทศตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยดำเนินการตามแบบแผนของกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐต่าง ๆ จำต้องมีบทบาทร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเสมือนการสะท้อนลักษณะความเป็นหลักสากลของระบบกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐไทยเป็นสมาชิกรวมอยู่ด้วยนำหลักการไปสู่การปฏิบัติต่อการพัฒนากฎหมายไทยด้วยเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตย

2. พันธกิจ

         1. ส่งเสริม สนับสนุน การบริหารงานนิติการสู่มืออาชีพ

         2. ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาระเบียบและกฎหมายตามหลักธรรมาภิบาลและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

         3. ส่งเสริม สนับสนุน การบริหารพัสดุและทรัพย์สิน การบริหารการเงินและการคลัง เป็นไปตามระเบียบและถูกต้อง

         4. ส่งเสริม สนับสนุน การทำนิติกรรมและสัญญา เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยและเป็นธรรม

         5. ส่งเสริม สนับสนุน กระบวนการพิจารณาคดีและวินัย งานอุทธรณ์และร้องทุกข์ งานทางปกครองงานป้องกัน เฝ้าระวัง ป้องกัน และปราบปรามการต่อต้านการทุจริต เป็นไปอย่างเสมอภาค เท่าเทียม และยุติธรรม

6. ส่งเสริม สนับสนุน งานวิจัย นวัตกรรมและสารสนเทศ การให้คำปรึกษา และการสร้างเครือข่าย  การบริการวิชาการ ยกระดับการเรียนรู้สู่วัฒนธรรมองค์การแห่งการเรียนรู้ด้านกฎหมายสู่ชุมชน ระดับชาติ และนานาชาติ

3.   วัตถุประสงค์ / เป้าหมายหน่วยงาน (ถ้ามี)

        1. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การบริหารงานนิติการสู่มืออาชีพ

        2. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาระเบียบและกฎหมายตามหลักธรรมาภิบาลและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

        3. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การให้ความรู้สู่กระบวนการพิจารณาคดี พัสดุและทรัพย์สิน การเงินและการคลัง นิติกรรมและสัญญา งานคดีและวินัย งานอุทธรณ์และร้องทุกข์ งานทางปกครอง งานป้องกัน เฝ้าระวัง ป้องกัน และปราบปรามการต่อต้านการทุจริต เป็นไปตามระเบียบที่ถูกต้อง อย่างเสมอภาค เท่าเทียม และยุติธรรม

        4. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน งานวิจัย นวัตกรรมและสารสนเทศ การให้คำปรึกษา และการสร้างเครือข่าย การบริการวิชาการ ยกระดับการเป็นผู้นำองค์การแห่งการเรียนรู้ด้านกฎหมายเชิงบูรณาการสู่สังคมสันติสุข